วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี)


ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี)

           เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี นามเดิมว่า "โต" (กล่าวกันว่าเมื่อเป็นเด็ก รูปร่างท่านแบบบาง ผู้ใหญ่จึงตั้งชื่อให้ตรงกันข้าม (ข่มนาม) ว่า "โต" ) นามฉาย าว่า "พฺรหมรังสี" เกิดในรัชกาลที่ ๑ (สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว๗ ปี) ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
           มีผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ได้ผูกดวงชาตาของท่านไว้ดังนี้ (ในหนังสือ "ประวัติขรัวโต" ของพระยาทิพโกษากล่าวว่า ดวงชะตาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศน์ผู้เขียน) ทรงคำนวณถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยมีพระประสงค์จะทรงทราบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ ๘๐ ปีขึ้นไปจะมีดวงชะตาเป็นอย่างไร แล้วพระราชทานไปยังสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งได้ประทานให้แก่พระยาทิพโกษา ลอกคัดเก็บรักษาไว้อีกต่อหนึ่ง ดวงชะตาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่ว่านี้ลัคนาสถิตราศีใดหาทราบไม่ แต่ได้ค้นพบในที่อื่นอยู่ในหอพระสมุดแห่งชาติ ปรากฏว่าโหรวางลัคนาไว้ในราศีเมษ แต่พบในที่อื่นอยู่ในราศรีพฤษภ. (มหาเฮง วัดกัลยาณ์)


ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรสี)
           สำหรับดวงที่ท่านเห็นอยู่นี้ ผูกขึ้นจากข้อมูลการเกิดข้างต้น เพียงแต่ลงตำแหน่งดาวเพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ดวง คือ เนปจูน (น) พลูโต (พ) และแบคคัส (บ) โดยได้วางลัคนาไว้ที่ราศีพฤษภ เนื่องจากช่วงเวลาที่พระบิณฑบาตร กว่าจะออกจากวัดตอนหกโมงเช้า พายเรือมากว่าจะถึงบ้านโยม ก็คงใช้เวลาอย่างน้อยเป็นชั่วโมง เพราะต้องรับบาตรเรื่อยมา เวลาที่ลงไว้ เมื่อวางลัคนา และเทียบกับอัตตชีวประวัติ ตลอดจนอุปนิสัยของท่านแล้ว เชื่อว่า ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง มากกว่าที่จะอยู่ในราศีเมษ (อ.เล็ก พลูโต )
           วงศ์สกุลของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นพระราชโอรส ในพระองค์พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และตลอดจนชั้นสามัญชนทั่วไป ก็เข้าใจกันว่าเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่กระจ่างแจ้งจึงไม่ขอยืนยัน มารดาชื่อเกสร (ธิดานายชัย) เดิมเป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอท่าโพธิ์ ต่อมาในสมัยหนึ่งการทำนาไม่ได้ผลเพระฝนแล้งมาหลายปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่อย่างน้อยที่สุดท่านต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรี (ความปรากฏในจดหมายเหตุบัญีน้ำฝน ของสมเด้จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เล่น ๓ หน้า ๔๔ ว่า
           "...วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น) ปีวอก จุล. ๑๒๓๔ เวลา ๒ ยาม สมเด้จพระพุฒาจารย์ถึง "ชีพิตักษัย....." ดังนี้ส่อให้เห็นว่าท่านต้องเป็นเชื้อพระราชวงศ์) กล่าวกันว่าเมื่อท่านเกิดแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นทารกนอนเบาะ มารดาพาท่านไปพักอยู่ที่บ้านตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านสอนเดินได้ มารดาก็พาท่านมาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนครสืบมา (ในกาลหลังท่านจึงได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ ณ ตำบลทั้งสามเป็นอนุสรณ์)
           เมื่อเยาว์วัย ท่านได้รับการศึกษาอักขรสมัยในสำนัก เจ้าคุณอรัญญิก (เจ้าคุณอรัญญิกเป็นชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ มีคนนับถือมาก นามเดิมของท่านเข้าใจว่าชื่อแก้ว) วัดอินทรวิหาร (วัดนี้เป็นวัดโบราณ ใครสร้างไม่ปรากฏที่กล่าวในหนังสือ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างนั้น เห็นจะหมายความว่า ท่านได้ปฏิสังขรณ์เป็นครั้งแรก เดิมเรียกว่า "วัดบางขุนพรหมนอก" ต่อมาพระองค์เจ้าอินทวงศ์ในกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทรราม ภายหลัง (ในรัชกาลที่ ๖) ทางการคณะสงฆ์ พิจารณาเห็นว่านามพ้องกับวัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือใต้) คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดอินทรวิหาร" ปรากฏสืบมาจนทุกวันนี้ 
           ครั้นอายุ ๑๒ ปี ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๓ ได้บรรพชาเป็นสามเณร (จะบรรพชาที่วัดสังเวชฯ หรือวัดอินทรวิหารไม่ทราบแน่ แต่สันนิษฐานว่าจะบรรพชาที่วัดอินทรวิหาร ด้วยเป็นสำนักที่ท่านเคยอยู่และศึกษาอักขรสมัยมาแต่แรก) เจ้าคุณบวรวิริยเถร (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม (เวลานั้นเรียกว่าวัดบางลำพูบน) จังหวัดพระนคร เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาจะเป็นปีใดไม่ปรากฏ ได้ย้ายสำนักมาอยู่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป 
           ในตอนที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะย้ายมาอยู่วัดระฆังฯ นั้นมีเรื่องเล่าว่า คืนวันหนึ่งพระอาจารย์ (เห็นจะเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก) นอนหลับฝันไปว่ามีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมดสิ้น แล้วตกใจตื่น ท่านได้พิจารณาลักษณะการที่ฝันเห็นว่า "ชะรอยจะมีคนนำเด็กมาฝากเป็นศิษย์ และเด็กนั้นต้องกอปรไปด้วยสติปัญญาอันสูงส่ง ต่อไปจะเป็นผู้ทรงคุณเป็นอย่างวิเศษผู้หนึ่ง" ครั้นรุ่งเช้าท่านจึงสั่งพระและเณรว่า วันนี้ถ้ามีใครนำเด็กมาขอให้รอยพบท่านให้จนได้ เผอิญในวันนั้น เจ้าคุณอรัญญิกได้พาสามเณรโตมาถวายเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรม พระอาจารย์นั้นก็ยินดีรับไว้ ด้วยพิเคราะห์เห็นพฤติการณ์เป็นจริงตามความฝัน

           เรื่องประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อันเนื่องด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า ท่านได้เล่าเรียนในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก วัดระฆัง เป็นพื้น และได้เล่าเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุบ้าง นอกจากนี้จะได้เล่าเรียน ที่ใดอีกบ้าง หาทราบไม่ เล่าว่าเมื่อเป็นนักเรียนท่านมักได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์เสมอว่ามีความทรงจำดี ทั้งมีปฏิภาณอัดยอดเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าขานกัว่าเมื่อท่านเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก่อนจะเรียนท่านกำหนดว่า วันนี้ท่านจะเรียนตั้งแต่นี่ถึงนั่น ครั้นถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลตลอด ตามที่กำหนดไว้ท่านทำดังนี้เสมอ จนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก"
           ยังมีข้อน่าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านเรียนรู้ปริยัติธรรมแต่ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ (ในสมัยก่อนนั้น การสอบพระปริยัติธรรมไม่ได้ออกเป็นข้อสอบเหมือนทุกวันนี้ การสอบในครั้งนั้นต้องสอบพระปริยัติธรรมต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการสอบด้วยปากเปล่า สุดแต่ผู้เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะสอบถามอย่างใด ต้องตอบให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็หมายความว่าตกเพียงแค่นั้น) และแปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ มีผู้เรียกท่านว่ามหาโตมาตั้งแต่แรกบวช ( ปรากฏในบัญชีรายนามพระสงฆ์พระราชทานฉันและสดัปกรณ์ราย ๑๐๐ ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา รัชกาลที่ ๓ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ แต่ไม่ลงปี มีนามเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เขียนว่า "มหาโต เปรียญเอก บางแห่งว่า มหาโต เปรียญ ๔ ประโยคแรก) แต่บางคนเรียกว่า "ขรัวโต"
           ทั้งนี้เพราะเห็นว่าท่านมักชอบทำอะไรแปลกๆ ไม่ซ้ำแบบใคร นี้เป็นเรื่องธรรมดาของอัจฉริยบุคคล ซึ่งตามปรกติคนส่วนมาก ไม่ค่อยเข้าใจในอัจฉริยภาพอันมีความหมายสูง อัจฉริยบุคคลแทบทุกท่านเมื่อยังมีชีวิตอยู่ มักจะมีผู้เข้าใจว่าบ้าเสมอ มีมติอยู่ข้อหนึ่งว่า " อัจฉริยบุคคลและคนบ้านั้นอยู่ห่างกันเพียงก้าวเดียว" ว่าถึงความรอบรู้พระปริยัติธรรม ปรากฏว่าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก มีชื่อทั้งเป็นผู้เรียนก็เรียนเก่งกว่าใคร เป็นครูก็สอนได้ดีเยี่ยม มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ศิษย์ที่เป็นเปรียญเอกและทรงสมณศักดิ์สูงคือหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน

           เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นชีพิตักษัย ณ หอสวดมนต์วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี เมือเวลา ๒ ยาม (๒๔.๐๐น.) วันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น) ปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ คำนวณอายุได้ ๘๕ ปี ครองพรรษาได้ ๖๕ พรรษา

ขอบคุณ เวปไซต์ วัดระฆังโฆสิตาราม

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

           พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ สมัยเดียวกันกับประเทศลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ไม่น้อยกว่า ๗ ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยต่อไปนี้

  พระพุทธศาสนา สมัยทวาราวดี
         ผืนแผ่นดินจุดแรกของอาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า "แหลมทอง" ซึ่งท่าน พระโสณะกับพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานนั้น จดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า "ทวาราวดี" สันนิษฐานว่าได้แก่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นหลักฐานประจักษ์พยานอยู่ พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้ เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม พุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้น ศิลปะในยุคนี้เรียกว่า ศิลปะแบบทวาราวดี

  พระพุทธศาสนา สมัยอาณาจักรอ้ายลาว
       พระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยที่ขุนนางเม้ากษัตริย์ไทย ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยปัจจุบัน ครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานผ่านมาทางประเทศจีน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นครั้งแรก

  พระพุทธศาสนา สมัยศรีวิชัย พ.ศ. ๑๓๐๐
           อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงจัดหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

  พระพุทธศาสนา สมัยลพบุรี พ.ศ. ๑๕๕๐
       ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. ๑๕๔๐ และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น 
   เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้ 
   เมืองสุโทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดีส่วนข้างเหนือ 
   เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก 
   เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงต้อนข้างเหนือ 
เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมด้วย กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ๒ แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

  พระพุทธศาสนา สมัยเถรวาทแบบพุกาม
         ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธมหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมเอาพม่ากับรามัญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จนถึงลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ส่วนชนชาติไทย หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้สถาปนาอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อกษัตริย์พุกาม (กัมพูชา) เรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากขอมเช่นเดียวกัน คือเมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามีปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ ๔ มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุกามแบบพม่า

  พระพุทธศาสนา สมัยสุโขทัย

         หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง ๒ อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านนา อยู่ทางภาคเหนือของไทย และอาณาจักรสุโขทัย มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ครั้งที่ ๒ ในสมัยพระเจ้าลิไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม มีความสงบร่มเย็น ประชาชนเป็นอยู่โดยผาสุก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน

  พระพุทธศาสนา สมัยอยุธยา

          พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามามาก พิธีกรรมต่าง ๆ ได้ปะปนพิธีของพราหมณ์ เน้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่มาก ประชาชนมุ่งเรื่องการบุญการกุศล สร้างวัดวาอาราม สร้างปูชนียวัตถุ บำรุงศาสนาเป็นส่วนมาก ในสมัยอยุธยาต้องประสบกับภาวะสงครามกับพม่า จนเกิดภาวะวิกฤตทางศาสนาหลายครั้ง ประวัติศาสตร์อยุธยาแบ่งเป็น 

   อยุธยาตอนแรก (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) 
       ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงผนวชเป็นเวลา ๘ เดือน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ และทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย สันนิษฐานว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวง ใน พ.ศ. ๒๐๒๕ 


   สมัยอยุธยาตอนที่สอง ( พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๑๗๓) 
    สมัยนี้ได้มีความนิยมในการสร้างวัดขึ้น ทั้งกษัตริย์และประชาชนทั่วไป นิยมสร้างวัดประจำตระกูล ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้พบพระพุทธบาทสระบุรี ทรงให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และโปรดให้ชุมชนราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย 



   สมัยอยุธยาตอนที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓ - ๒๓๑๐) 
     พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้ ได้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างมากทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า สมัยนี้พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกับไทย และได้พยายามเผยแผ่ศาสนา และทูลขอให้พระนารายณ์เข้ารีต แต่พระองค์ทรงมั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงนำพาประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองของฝรั่งเศสได้ เพราะมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง 


   สมัยอยุธยาตอนที่สี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๑๐) 
          พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทมากในยุคนี้ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเสวยราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ จนทำให้พุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่า นิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

  พระพุทธศาสนา สมัยกรุงธนบุรี
          ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายกทัพเข้าตีจนบ้านเมืองแตกยับเยิน พม่าได้ทำลายบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เก็บเอาทรัพย์สินไป กวาดต้อนประชาชนแม้กระทั่งพระสงฆ์ไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามถูกเผาทำลาย ครั้นต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้นำในการกอบกู้อิสระภาพ สามารถกอบกู้เอกราชจากพม่าได้ ทรงตั้งราชธานีใหม่ คือเมืองธนบุรี ทรงครองราชและปกครองแผ่นดินสืบมา ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและสร้างวัดเพิ่มเติมอีกมาก ทรงรับภาระบำรุงพระพุทธศาสนารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาคัดเลือกจัดเป็นฉบับหลวง แต่ไม่ยังทันเสร็จบริบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๒ กองทัพไทยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มายังประเทศไทย ภายหลังพระองค์ถูกสำเร็จโทษเป็นอันสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี

  พระพุทธศาสนา สมัยรัตนโกสินทร์

   รัชกาลที่ ๑ (๒๓๒๕ - ๒๓๕๒)
           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายเมืองจากธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆเช่นสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพน ฯ เป็นต้น ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙ และถือเป็นครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย ณ วัดมหาธาตุ ได้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒ 

   รัชกาลที่ ๒ (๒๓๕๒- ๒๓๖๗) 
            พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ เป็นทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราช( สุก ) สมเด็จพระสังฆราช( มี ) และสมเด็จพระสังฆราช ( สุก ญาณสังวร) 
           ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงจัดส่งสมณทูต ๘ รูป ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา ได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย แต่ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จึงได้มีการฟื้นฟูวันวิสาขบูชาใหม่ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร ๓ ชั้น คือ เปรียญตรี -โท - เอก เป็น ๙ ชั้น คือชั้นประโยค ๑ - ๙ 

   รัชกาลที่ ๓ (๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) 
            พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อน ๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือวัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดา และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ 

   รัชกาลที่ ๔ (๒๓๙๔ -๒๔๑๑) 
            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช ๒๗ พรรษาแล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๒๓๙๔ ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่นวัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้ 

   รัชกาลที่ ๕ (๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) 
             พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงยกเลิกระบบทาสในเมืองไทยได้สำเร็จ ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือวัดวัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่น ๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดใหั้มีการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ ครั้น พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม ถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น 
        เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ จบ พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ และต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร 
        ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดในปีเดียวกัน 

   รัชกาลที่ ๖ (๒๔๕๓- ๒๔๖๘) 
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง ทรงโปรดให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ให้เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ 
         ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน เป็นครั้งแรก 
         พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า "นักธรรม" โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม ๒๔๕๔ ตอนแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม" 
          พ.ศ. ๒๔๖๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่น ๆ เช่นวิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา เป็นต้น 

   รัชกาลที่ ๗ (๒๔๖๘ - ๒๔๗๗) 
           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๓ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในเมืองไทย แล้วทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ ชุด โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการอย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด" ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาสำหรับนักเรียน ได้เปิดให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยจัดหลักสูตรใหม่ เรียกว่า "ธรรมศึกษา" ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เมื่อคณะราษฎร์ได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ 

    รัชกาลที่ ๘ (๒๔๗๗ - ๒๔๘๙) 
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชเป็นรัชกาลที่ ๘ ในขณะพระพระชนมายุ เพียง ๙ พรรษาเท่านั้น และยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 
            ในด้านการศาสนาได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ 
   ๑. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้ทำต่อจนเสร็จเมื่องานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ 
   ๒. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น ๑๒๕๐ กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ 
   พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการเปลี่ยนเป็น กรมการศาสนา และในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่ 
   พ.ศ. ๒๔๘๘ มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย" เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม 
   พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราช เป็นรัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน 

   สมัยรัชกาลที่ ๙ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ สืบมา) 
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นราชกาลที่ ๙ สืบต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้ 

   - ด้านการศึกษา ประชาชนได้สนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นตามลำดับ ได้มีการจัดตั้งสมาคม มูลนิธิทางพุทธศาสนาเพื่อการศึกษามากมาย มีการจัดตั้งชมรมพุทธศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พ.ศ. ๒๔๙๐ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายพระพุทธศาสนาขึ้น เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๐ และเปิดการศึกษาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการศึกษาของพระสงฆ์ได้มีการยกระดับมาตรฐานการศึกษา เช่นยกระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง คือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และมีนโยบายจะเปิดระดับปริญญาเอกในอนาคต ได้มีการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยสากลทั่วไป และได้ออกกฏหมาย พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง โดยรัฐสภาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีชื่อว่า "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ "มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" ปัจจุบันนี้ได้มีวิทยาเขตต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน นครสวรรค์ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา หนองคาย นครปฐม นครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนการศึกษาด้านอื่น ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ ระดับประถมปลาย และ ม.๑ ถึง ม.๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเปิดการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน จนได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ
   - ด้านการเผยแผ่ ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศไทยได้มีองค์กรเผยแผ่ธรรมในแต่ละจังหวัด โดยได้จัดตั้งพุทธสมาคมประจำจังหวัดขึ้น ส่วนพระสงฆ์ได้มีบทบาทในการเผยแผ่มากขึ้น โดยใช้สื่อของรัฐ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเอาวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ม. ๑ ถึง ม. ๖ พระสงฆ์จึงได้มีบทบาทในการเข้าไปสอนในโรงเรียนต่าง ๆ มีการประยุกต์การเผยแผ่ธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการบรรยาย ปาฐกถา และเขียนหนังสืออธิบายพุทธธรรมมากขึ้น ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เช่นมีพระเถระนักปราชญ์ชาวไทยในยุคนี้ ได้แก่ ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น ในต่างประเทศได้มีการสร้างวัดไทยในต่างประเทศหลายวัด เช่นวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ ต่อจากนั้นได้มีการสร้างวัดไทยในประเทศตะวันตก คือวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิด เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ นับเป็นวัดไทยวัดแรกในประเทศตะวันตก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มีการสร้างวัดแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอเนีย ชื่อว่า วัดไทยลอสแองเจลิส ปัจจุบันมีวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๑๕ วัด นอกจากนั้นได้มีองค์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย ได้จัดให้มีการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้นประจำทุกปี เพื่อส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตก ปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกได้หันมาสนใจพุทธศาสนากันมาก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการจัดตั้งสำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น ณ ประเทศไทย ( พ.ส.ล. ) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก 
   - ด้านพิธีกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เป็นพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ให้เป็นพิธีของรัฐบาล เรียกว่า "รัฐพิธี" โดยให้กรม กระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้จัด จัดให้มีงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ในพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่นวันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา ณ พุทธมณฑล ซึ่งสร้างขึ้น เมื่อคราว ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ 
   - ด้านวรรณกรรม ได้มีวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย มีปราชญ์ทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลายรูป จึงได้เกิดวรรณกรรมทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเล่ม เช่นพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ของท่านพุทธทาสภิกขุ หนังสือ พุทธธรรม ของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น

ขอบคุณ เวปไซต์ ธรรมะไทย

ประวัติ วัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร


                                           ประวัติ วัดระฆังโฆษิตาราม วรมหาวิหาร

          วัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คู่กับวัดบางหว้าน้อย คือ วัดอมรินทราราม ปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงกู้อิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑ 

        พุทธศักราช ๒๓๑๒ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์แล้วก็ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ยกวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเดิมเป็นวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง และทรงมีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกคงกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เพราะพม่าได้เผาบ้านเมืองและวัดวาอารามพินาศลง จึงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยังมีบริบูรณ์อยู่เพราะพม่ายังไปทำลายไม่ถึง ประจวบกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทำสงครามที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเสร็จราชการสงครามแล้วได้ทรงพบพระอาจารย์รูปหนึ่งมีชื่อว่า พระอาจารย์สี แต่เดิมพระอาจารย์สีรูปนี้อยู่ประจำที่วัดพนัญเชิง แขวงเมืองกรุงเก่า เป็นผู้มีความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ซึ่งพระองค์ทรงรู้จักดี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ท่านได้หลีกไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้รวบรวมพระไตรปิฎกจากนครศรีธรรมราชได้แล้ว เสด็จกลับกรุงธนบุรีพร้อมกันนั้นก็ได้อาราธนาพระอาจารย์สีร่วมมาในขบวนนั้นด้วยและโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดบางหว้าใหญ่ พร้อมทั้งทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย 

        กาลต่อมาได้มีพระราชดำรัสสั่งให้พระเถรานุเถระมาประชุมกันที่วัดบางหว้าใหญ่อีก แล้วทรงอาราธนาให้พระเถรานุเถระทั้งหลาย มีสมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นประธาน ทรงขอให้รับธุระสอบทานพระไตรปิฎกจึงได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกจนสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ เป็นต้นฉบับที่ถูกต้องตามพระราชประสงค์ ณ วัดบางหว้าใหญ่ 

        สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระชนม์ได้ ๓๓ พรรษา รับราชการอยู่ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็น พระราชวรินทร์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ทรงย้ายจากบ้านอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้ๆ กับพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ปัจจุบันคือกรมอู่ทหารเรือ) ต่อมาได้รับพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช ท่านจึงสั่งให้รื้อหอพระตำหนักกับหอประทับนั่งมาปลูกถวายไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ หลังคามุงจาก ฝาสำหรวดกั้นห้องด้วยกระแชง ทั้งนี้ตามความตั้งพระทัยไว้แต่เดิมว่าจะยกถวายวัด (ปัจจุบัน พระอุโบสถหลังเก่ายกขึ้นเป็นพระวิหาร เป็นสถานที่ให้เช่าพระ) เมื่อล่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาตั้งใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกชื่อว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (สี) ที่ถูกถอดยศในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี มาครองวัดบางหว้าใหญ่ตามเดิม และรับสั่งให้พระสงฆ์วัดบางหว้าใหญ่และวัดโพธาราม (ปัจจุบัน คือ วัดพระเชตุพน อยู่ตรงท่าเตียน) เข้ารับบิณฑบาตในพระราชวัง ผลัดเวรกันวัดละ ๗ วัน สมเด็จพระสังฆราช (สี) นี้ จึงนับว่าเป็นปฐมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเจริญด้วยพระราชศรัทธาทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นค่าจ้างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นอักษรขอม เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปถวายไว้ตามพระอารามหลวงทุกพระอาราม ยิ่งกว่านั้นทรงมีพระราชดำริว่า “มูลฐานแห่งพระพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎก ควรจะได้ชำระสอบทานเสียใหม่ อย่าให้อักขระพยัญชนะวิปลาสคลาดเคลื่อน ถ้าทิ้งไว้นานไปเบื้องหน้า สิ้นพระเถรานุเถระเหล่านี้แล้วพระไตรปิฎกจะวิปลาส การพระศาสนาจะเสื่อมโทรม” ฉะนั้น จึงได้เลือกพระภิกษุผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกได้ ๑๘ รูป ราชบัณฑิตอีก ๓๒ ท่าน เป็นคณะที่จะทำสังคายนาพระไตรปิฎก และได้มีพระราชดำรัสสั่งให้จัดวัดนิพพานาราม ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระศรีสรรเพชญดาราม (ปัจจุบัน คือ วัดมหาธาตุ อยู่ใกล้ๆ ท่าพระจันทร์) เป็นสถานที่ทำสังคายนา ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก พุทธศักราช ๒๓๓๑ เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา มีพระราชดำรัสสั่งให้อาราธนาพระสงฆ์การกะ มีสมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นประธาน ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญดาราม พระสงฆ์เถรานุเถระทั้งปวงพร้อมด้วยราชบัณฑิตประชุมกันชำระสอบทานพระไตรปิฎก สิ้นเวลาถึง ๕ เดือน จึงเสร็จการสังคายนาสมพระราชประสงค์ นับเป็นครั้งที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งวัดบางหว้าใหญ่ได้เป็นประธานร่วมกิจพระศาสนาในครั้งนั้น 

        อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อได้ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกในการสังคายนาแล้ว ได้มีพระราชปรารภถึงพระตำหนักและหอประทับนั่งที่ได้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ สมัยที่พระองค์ทรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ รับราชการในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชประสงค์จะปฏิสังขรณ์ปรับปรุงให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีพระราชประสงค์จะยกขึ้นเป็นหอพระไตรปิฎก จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะยิ่งนัก ที่ขุดได้ในวัดนั้นว่าขุดได้ ณ ที่ใด และได้ทรงทราบจากพระเถระผู้เฒ่าว่า ขุดได้ทางทิศพายัพของพระอุโปสถ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถหลังเก่า) จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ขุดสระขึ้นในที่ขุดเจอระฆังนั้น โดยรับสั่งให้สร้างเขื่อนรอบสระ เรียงอิฐก่อด้วยดินเหนียว (ปัจจุบันนี้ทางวัดได้เอาปูนโบกกั้นกันดินทลายลง) เมื่อปรับปรุงสถานที่เสร็จแล้ว จึงรับสั่งให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอกลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่างๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงามเสร็จแล้วทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ ตู้ เพื่อให้สมกับที่ได้ตั้งพระไตรปิฎก และประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ ๑ ตู้ หอด้านใต้ ๑ ตู้ กิจกรรมเนื่องด้วยหอพระไตรปิฎกนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในความควบคุมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยเฉพาะลายรดน้ำและลายแกะสลัก นัยว่าเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ กับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อการปฏิสังขรณ์ซ่อมสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองหอพระไตรปิฎก และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เองเมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วได้ทรงปลูกต้นจันทน์ไว้รอบสระ ๘ ต้น (ปัจจุบันเหลือเพียงต้นเดียว) เสร็จแล้วทรงประกาศพระราชอุทิศให้เป็นหอพระไตรปิฎก แต่มีผู้เรียกกันว่า ตำหนักจันทน์ และทรงขอระฆังเสียงดีลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างหอระฆังจตุรมุขพร้อมทั้งระฆังอีก ๕ ลูก พระราชทานไว้แทน เพราะเหตุแห่งการขุดระฆังได้ จึงได้ชื่อตามที่ประชาชนเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นมา 

        มีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จะทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดคัณฑิการาม แต่ชื่อนี้ไม่มีใครเรียก จึงเป็นชื่อ วัดระฆัง ตามเดิม 

        ในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบางหว้าใหญ่นี้เป็นวัดในความอุปถัมภ์ของเจ้านายในวังหลัง สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา เป็นสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ใกล้กับวัดบางหว้าใหญ่ จึงได้ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเจริญด้วยพระราชศรัทธาได้ทรงสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้น ๑ องค์ ที่หน้าพระอุโบสถ (หลังเก่า) พระราชทานช่วยสมเด็จพระพี่นางพระองค์นั้นและได้มีพระราชดำรัสสั่งให้รื้อตำหนักปิดทองที่เรียกกันว่า ตำหนักทอง อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังเดิมมาปลูกไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ ทรงอุทิศเป็นสังฆบูชาถวายให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (สี) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิมว่า ทองอิน ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี ทรงถวายตำหนักแดงหนึ่งหลัง ฝารูปปะกน กว้างประมาณ ๔ วาเศษ ระเบียงกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก ยาวประมาณ ๘ วาเศษ ฝาประจัน ห้องเขียนรูปภาพอสุภต่างๆ ชนิด มีภาพพระภิกษุเจริญอสุภกรรมฐาน เดี๋ยวนี้ภาพเหล่านั้นสูญสายหมดแล้ว คงอยู่แต่ตำหนัก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวงศ์ เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงมีพระดำรัสว่า กุฏิหลังนี้ แต่เดิมเป็นที่ประทับทรงกรรมฐานของพระเจ้ากรุงธนบุรี เรียกกันว่า ตำหนักแดง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังใหม่ พุทธศักราช ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราช (สี) สิ้นพระชนม์ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงแล้ว โปรดให้อัญเชิญพระอัฐิมาบรรจุไว้ในรูปพระศรีอาริย์แล้วยกขึ้นประดิษฐานไว้บนมุขของพระปรางค์ทิศตะวันออก (ปัจจุบัน รูปพระศรีอาริย์ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารสมเด็จพระสังฆราชสี) ปั้นรูปพัดยศติดที่ซุ้มมุขเป็นเครื่องหมายพระยศ พระแท่นบุษบกมาลาลายรดน้ำ กระจังลายแกะปิดทอง เป็นพระแท่นที่ประทับตามพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราชและเสลี่ยงรั่วงา ของทั้งสองอย่างนี้ยังรักษาไว้ในวัดระฆังโฆสิตาราม (ห้องพิพิธภัณฑ์) เพราะทางราชการในอดีตไม่ได้เรียกคืน 

        ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระประชวร ใกล้จะสวรรคต จึงมีพระราชดำรัสสั่งว่า ฉัตรกั้นพระเมรุ เมื่อเสร็จการพระเมรุแล้ว ขอให้นำไปถวายพระประธานวัดระฆัง ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ พุทธศักราช ๒๓๕๒ ก็ทรงสวรรคต เหตุนี้ฉัตรกั้นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระระฆังโฆสิตารามจึงเป็นเสวตฉัตร ๙ ชั้น แต่เดิมเศวตฉัตรองค์นี้กั้นถวายพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า (ปัจจุบันเป็นพระวิหาร) ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เกิดไฟไหม้เสนาสนะสงฆ์ ลุกลามตั้งแต่ทิศใต้อ้อมไปจนถึงทิศตะวันตก ใกล้จะถึงตำหนักจันทน์ (หอพระไตรปิฎก) ไฟจึงดับลง ตำหนักทองซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในพระราชวังเดิม ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้รื้อมาปลูกไว้ที่วัดระฆังโฆสิตารามก็ถูกไฟไหม้ด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ และขยายเขตวัดทางด้านทิศเหนือให้กว้างออกไป พร้อมกันนั้น กรมหมื่นนราเทเวศร์ (ได้ทรงกรมหลวงในรัชกาลที่ ๓) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ได้ทรงสร้างพระเจดีย์โดยเสด็จพระราชกุศลกรมละหนึ่งองค์ภายในกำแพงพระอุโบสถด้านทิศเหนือ และได้ทรงสร้างเสนาสนะสงฆ์เพิ่มขึ้นอีกในเนื้อที่ที่ได้ขยายออกไป ได้อัญเชิญพระประธานหล่อมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถที่ทรงสร้างขึ้นใหม่จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำเศวตฉัตรในพระอุโบสถหลังเก่ามากั้นพระประธานองค์ใหม่ พระประธานองค์เก่านั้น ของเดิมองค์เล็ก ปั้นด้วยปูน มีเสาหินขนาดย่อมเป็นแกน ไม่ใหญ่โตอย่างเดี๋ยวนี้ และผุพังทรุดโทรมมาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ได้ให้ช่างปั้นชาวบ้านช่างหล่อหลายคนด้วยกันที่สืบได้ ๑ คน คือนายจำเริญ พัฒนางกูร ร่วมกันปั้นรูปพระประธานทับพระประธานองค์เก่าจึงดูใหญ่โตขึ้นจนไม่น่าเชื่อว่าจะใช้เศวตฉัตรองค์นี้กั้นถวายได้ 

        ส่วนพระประธานองค์ปัจจุบันนี้ สืบไม่ได้ความว่านำมาจากไหน เป็นแต่ได้รับคำบอกเล่าจากพระครูเมธังกร (ทอง) ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.จำเริญ อิศรางกูร) ได้เล่าให้ฟังว่า สมเด็จฯ เมื่อยังดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นเทพ ได้ถามพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งถึงเรื่องพระประธาน พระผู้เฒ่ารูปนั้นทั้งชาววัดและชาวบ้านเรียกท่านว่า เสด็จสระ เพราะท่านอยู่บนหอไตรที่ตั้งอยู่ในสระ ความจริงท่านไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนายอะไร เป็นเพราะหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เรียกท่านว่าหลวงพี่ ท่านก็เลยตั้งความนับถือตัวเองเป็นเจ้า ประกอบกับท่านมีสติคุ้มดีคุ้มร้ายอยู่ด้วย เมื่อใครจะพูดจะถามกับท่านต้องเรียกว่า เสด็จ ถ้าไม่เรียกอย่างนั้นจะไม่ยอมพูดด้วย พระผู้เฒ่ารูปนี้แหละได้เรียนให้สมเด็จฯ ทราบว่า เมื่อท่านยังเป็นเด็กรู้ความแล้ว เห็นเขาขนพระเป็นท่อนๆ ใส่เรือมาขึ้นที่ท่าต้นโศก (ที่ริมเขื่อนหน้าวัดระฆังโฆสิตาราม ใกล้ศาลาท่าน้ำวัดมีต้นโศกต้นใหญ่ประมาณ ๒ อ้อมเศษ ปัจจุบันไม่มีแล้ว) แล้วขนเอาไปในพระอุโบสถ ทราบเพียงเท่านี้ สมเด็จฯ จึงทราบว่าพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตารามเป็นพระหล่อไม่ใช่พระปูนนั้น พระประธานองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระหัตถ์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างามมาก จนเป็นที่ปรากฎในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษและพระราชดำรัสนี้เป็นที่ซาบซึ้ง ได้เล่าสืบกันมาจนทุกวันนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทางวัดระฆังโฆสิตารามได้รับพระราชทานมา เศวตฉัตรองค์นี้ ของเดิมเป็นผ้าตาดขาวเก่ามาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นผ้าขาวลายฉลุปิดทองใช้โครงของเก่า และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้มีการเปลี่ยนผ้าให้เป็นตามแบบเดิมอีกครั้งหนึ่งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนใหม่ เพราะเก่ามาก ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องด้วยมหากุศล 

        อนึ่ง เศวตฉัตรนี้เป็นฉัตร ๙ ชั้น มีผู้คนพูดกันต่อๆ มาว่า มีพระอัฐิ หรือพระอังคาร ของเจ้านายผู้สูงศักดิ์ บรรจุอยู่ใต้ฐานพระประธาน แต่ก็ได้ความไม่แน่นอนนักว่าเป็นของเจ้านายพระองค์ใด ถ้าพิจารณาตามพระราชพิธีทักษิณานุประทานงานสงกรานต์สดับปกรณ์ผ้าคู่ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแล้ว เจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสมักสดับปกรณ์ประจำพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บางปีก็เปลี่ยนเป็นประจำพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ผู้ทรงเป็นพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่พุทธสักราช ๒๕๐๑ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามได้ประจำพระอัฐิ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดีตลอดมา 

        ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างตำหนักเก๋งหนึ่งหลังอยู่ทางทิศใต้ของวัด เหตุที่ทรงสร้างตำหนักเก๋ง มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งควาญช้างนำช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกอาบน้ำในเวลาเช้าที่ท่าช้างวังหลวง เมื่อควาญช้างได้อาบน้ำให้แล้วขึ้นจากท่า ช้างกลับไม่ยอมเข้าโรง วิ่งอาละวาดไล่คนที่เดินผ่านไปมาตั้งแต่ท่าช้างถึงหลักเมือง และวนเวียนอยู่แถวนั้นตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงเศษก็ยังไม่ยอมกลับเข้าโรง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้อาราธนาสมเด็จพระพนรัต (ทองดี) วัดระฆังโฆสิตาราม ให้ไปช่วยนำช้างเข้าโรง เพราะทรงทราบว่าสมเด็จพระพนรัตนี้มีความรู้ทางคชศาสตร์ และท่านก็ได้ช่วยจัดการนำช้างเข้าโรงได้อย่างง่ายดายสมพระราชประสงค์ และในการปราบช้างของสมเด็จพระพนรัตในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียกตามการทรงสถาปนาของรัชกาลที่ ๔) ได้ประทับทอดพระเนตรอยู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าโรงทานข้างประตูวิเศษไชยศรี ได้ทรงเห็นความสามารถของสมเด็จพระพนรัต จึงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเกิดความเลื่อมใสในวิชาคชศาสตร์ ต่อมาจึงได้ทรงให้สร้างตำหนักเก๋งไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และเมื่อทรงผนวชแล้วได้เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ที่ตำหนักที่ทรงสร้างไว้ 

        สมเด็จพระสมมติอมรพันธ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานข้อสังเกตในหนังสือตั้งพระราชาคณะกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงผนวชที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ เพราะเหตุว่าได้ทรงนับถือในสมเด็จองค์นี้มาก ที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ ยังมีพิธีสวดพระกฐินแปลกจากวัดอื่นๆ ทั่วพระราชอาณาจักร คือพระคู่สวดเมื่อจะสวดญัตติทุติยกรรมจะยืนขึ้นสวดตั้งแต่ต้นไปจนจบ ทำนองสวดแบบสวดภาณยักษ์ เล่าสืบกันมาว่า สมัยสมเด็จพระสังฆราช (สี) เป็นอธิบดีสงฆ์ การสวดกฐินนั่งสวดก่อน พอสวดถึง ยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย พระคู่สวดนั้นต้องลุกขึ้นยืนสวดตั้งแต่ ทินฺนํ......ไปจนจบ มาถึงสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอธิบดีสงฆ์ ท่านขอให้ยืนสวดตั้งแต่ต้นไปจนจบทีเดียว โดยท่านอ้างว่า เมื่อยืนสวดแล้วก็ยืนเสียให้ตลอดไป จึงเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้



ประวัติ ปูชนียวัตถุ



                พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก 
                จนปรากฎว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา





                พระปรางค์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระยาเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา) ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย พระปรางค์องค์นี้จัดเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา





                พระเจดีย์ ๓ องค์ สร้างโดยเจ้านายวังหลัง ๓ องค์ คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายปาล ต้นสกุล ปาลกะวงศ์) กรมหมื่นนเรศร์โยธี (พระองค์เจ้าชายบัว) และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายแดง ต้นสกุล เสนีวงศ์) สร้างโดยเสด็จพระราชกุศลในรัชกาลที่ ๓ เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ทรงจอมแห ทรวดทรงงดงามมาก แต่เป็นเจดีย์ขนาดย่อม ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน





                พระอุโบสถ เป็นทรงแบบรัชกาลที่ ๑ หลังคาลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง ๒ ช่อง แทนแผงแรคอสองเหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้มบนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก โดยผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพฝาผนังส่วนที่เหลือ เบื้องบนเขียนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ซึ่งเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาอ่อนช้อยและแสงสีเหมาะสมกับเรื่องราว ภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๕ ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น




                ต้นโพธิ์ลังกา เป็นต้นโพธิ์พันธุ์ลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับมาในรัชสมัยของพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกตามพระอารามหลวงต่างๆ ตามประวัติกล่าวว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นโพธิ์ที่วัดระฆังโฆสิตารามนี้ด้วยพระองค์เอง




                ตำหนักแดง เป็นเรือนไม้สักฝาปะกนกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขทรงยกถวายวัดระฆังโฆสิตารามเพื่อปลูกเป็นกุฏิสงฆ์ ปัจจุบันอยู่ภายในบริเวณคณะ ๒ เชื่อกันว่าเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) สันนิษฐานจากพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ตรัสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อเสด็จมาทอดพระเนตรกุฏินี้ว่า นี้เป็นตำหนักปรกของพระเจ้ากรุงธนบุรี หลักฐานที่นำมาอ้างอิงคือฝาประจันที่ใช้กั้นห้องภายในตำหนักเดิม เขียนรูปอสุภต่างๆ ชนิด และมีภาพพระภิกษุเจริญกรรมฐาน ซึ่งสอดคล้องกับพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้ลบเลือนหายไปหมดสิ้นแล้ว





                หอพระไตรปิฎก เป็นรูปเรือน ๓ หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอ กลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่างๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงาม ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ๒ ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ ๑ ตู้ หอด้านใต้ ๑ ตู้ หอพระไตรปิฎกนี้ตั้งอยู่ภายในเขตพุทธาวาส ทิศใต้ของพระอุโบสถ




                หอพระไตรปิฎกหลังเล็ก อยู่หน้าตำหนักแดง ในคณะ ๒ เป็นเรือนไม้ฝาปะกน ปิดทอง ทาสีเขียวสด ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงามมาก




                พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร ๓ ชั้น อันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป็นทรงปั้นหยา เรียกว่า ศาลาเปลื้องเครื่อง ต่อมา พระราชธรรมภาณี (ละมูล) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆังโฆสิตาราม ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์




                ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๖.๖๐ เมตร ยาว ๔๐.๘๐ เมตร สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย

                                                                                          ขอบคุณ เวปไซต์ วัดระฆังโฆสิตาราม

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

รักบริสุทธิ์ของคนที่เรียกว่า...แม่

                                                     


                                                   เมื่อฉันแก่ตัวลง

            เรื่องเล่าของลูกผู้ชายชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นต้องมีภารกิจเดินทาง และตั้งถิ่นฐานอยู่ไกลจากพ่อแม่ แต่ก็มักติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์กับแม่อยู่เสมอ แม่มักจะบอกเขาว่า “ไม่ต้องห่วงแม่” ไม่ต้องกลับมาเยี่ยมบ่อยๆ เพราะจะสิ้นเปลืองเงินทอง ยิ่งพูดก็ยิ่งซ้ำๆซากๆ เขารู้ดีว่า แม่เริ่มคิดถึงเขามาก
            จนกระทั่งปีนึง ที่แม่มีอายุครบ 75 เขาจึงตั้งใจจะกลับไปเยี่ยมแม่โดยตั้งใจว่าจะอยู่ด้วยสัก 1 เดือน ขอเป็นเพื่อนแม่เพียงอย่างเดียว พอบอกข่าวนี้ให้แม่ทราบ แม้จะมีเวลาอีกตั้ง 2 เดือนเศษ
แม่ก็เริ่มเตรียมตัวในการกลับมาเยี่ยมบ้านของลูก แม่ดึงเอาสมุดบันทึกมาจดสิ่งที่ต้องตระเตรียม
แม่เตรียมรายการอาหารที่ลูกชอบรื้อเอาผ้าห่มที่ลูกเคยชอบห่มมาปะชุนใหม่ สำหรับคนอายุ 75 เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
           พอลูกกลับถึงบ้าน ตอนอยู่บนเครื่องบิน เคยตั้งใจว่าจะขอกอดแม่ให้ชื่นใจสักครั้ง แต่พอมาเห็นแม่ แม่ที่ยืนอยู่ตรงหน้า ผอมแห้ง หน้าตาเหี่ยวย่น ช่างไม่เหมือนแม่ คนก่อนหน้านี้เลย แม่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเตรียมอาหารที่ลูกเคยชอบโดยที่หาทราบไม่ว่า ลูกไม่ได้ชอบอาหารแบบนั้นแล้ว และเพราะแม่ตาไม่ค่อยดี รสชาติอาหารจึงแย่มากๆ บางจานก็เค็มจัด บางจานก็จืดสนิท ผ้าห่มที่แม่อุตส่าห์เตรียมให้ ทั้งหนาทั้งหยาบไม่สบายกายเลย แม่หารู้ไม่ว่า เดี๋ยวนี้ลูกนอนห้องแอร์ และใช้ผ้าห่มขนแกะแล้ว แต่เขาก็ไม่บ่นอะไร เพราะเขาตั้งใจจะกลับมาเป็นเพื่อแม่จริงๆ
            สองสามวันแรก แม่ยุ่งอยู่กับเรื่องจิปาถะ จนไม่มีเวลาพักผ่อน พอเริ่มได้พัก แม่ก็เริ่มพูดมาก สอนโน่นสอนนี่ พูดแต่ปรัชญาเก่าๆ ซึ่งปรัชญาเหล่านั้น 10 กว่าปีก่อนก็เคยพูดแล้ว พอลูกบอกให้ฟังว่า 
ปรัชญาเหล่านั้นไม่ทันสมัยแล้วแม่ก็เริ่มนิ่งเงียบและเศร้าซึม
            “เหตุการณ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ ผมพบว่าสุขภาพแม่แย่ลง โดยเฉพาะสายตา อาหารบางจานมีแมลงวันด้วย บางทีอาหารหกบนเตา แม่ก็เก็บใส่จานตามเดิม ครั้นผมพยายามชวนแม่ไปกินนอกบ้าน แม่ก็บอกอาหารข้างนอกไม่สะอาด ของแปลกปลอมเยอะ เมื่อผมบอกแม่ว่าจะหาคนรับใช้มาช่วยแม่สักคน แม่ก็โวยวายว่าแม่เองยังสามารถทำงานเลี้ยงดูเด็กให้ผู้อื่นได้เลย ผมเลยพูดไม่ออกพอผมจะออกไปช้อปปิ้ง แม่ก็จะตามไปด้วย ทำเอาวันนั้นทั้งวัน พวกเราไม่ได้ไปช้อปปิ้งเลย...”
           “พอพวกเราเริ่มคุยกันในเรื่องทันสมัย แม่ก็จะหาว่าพวกเราเพี้ยน ผมก็เริ่มบอกแม่อย่างไม่ค่อยเกรงใจว่า แม่นี่มันสมัยใหม่แล้วแม่ต้องหัดมองโลกในแง่ใหม่ๆบ้าง  ช่วงครึ่งเดือนหลังที่อยู่กับแม่ 
ผมเริ่มขัดแม่มากขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกรำคาญเพิ่มมากขึ้นแต่เราไม่เคยทะเลาะกันนะ พอผมขัดแม่ 
แม่ก็หยุดกึกลง ไม่พูดไม่จา ในตามีแววเหม่อลอย โลกซึมเศร้าแบบคนแก่ของแม่ชักหนักขึ้นเรื่อยๆ”
          “ได้เวลาที่ผมจะต้องเดินทางกลับ แม่ดึงกล่องกระดาษกล่องหนึ่งออกมาในนั้นเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ที่แม่ตัดเก็บไว้ในช่วงที่ผมไปอยู่เมืองนอก แม่เริ่มสนใจข่าวต่างประเทศเมื่อผมเดินทางไปนอก ทุกครั้งที่มีข่าวตึงเครียดในประเทศนั้นๆ แม่จะตัดข่าวเก็บไว้ตั้งใจจะมอบให้ผมตอนที่ผมกลับมา แม่พูดอยู่เสมอว่า อยู่นอกบ้านนอกเมืองต้องระวังตัวให้มากๆ ครั้งหนึ่งมีเรื่องคนญี่ปุ่นต่อต้านและข่มเหงคนจีน มีการปะทะกันด้วย แม่เป็นห่วงมาก ถามเพื่อนบ้านว่าจะส่งข่าวไปเตือนผมที่ญี่ปุ่นได้อย่างไรตอนนั้นผมสอนอยู่ที่ญี่ปุ่น”
           แม่ดึงเอาปึกกระดาษข่าวนั้นออกมาอย่างยากลำบากวางใส่ในมือผมเหมือนของวิเศษชิ้นหนึ่ง 
มันหนักมาก ผมเริ่มรู้สึกลำบากใจเพราะผมไม่อยากนำกลับไป มันไม่มีประโยชน์อะไรแล้วผมรู้ว่าแม่เก็บมันด้วยความยากลำบาก แม่สายตาไม่ค่อยดี ต้องใช้แว่นขยายอ่านได้วันละ 2 หน้าก็เก่งแล้ว นี่ยังตัดเก็บได้ขนาดนี้ ทันใดนั้นมีข่าวแผ่นหนึ่งปลิวหลุดลงมา แม่รีบเอื้อมไปหยิบแต่แทนที่แม่จะเก็บเข้ากองเดิม แม่กลับพับเก็บไว้ในกระเป๋าของตัวเอง ผมรู้สึกเอะใจ เลยถามว่า “แม่ นั่นกระดาษอะไรขอผมดูหน่อยนะ” แม่ลังเลอยู่ครู่หนึ่ง จึงล้วงออกมาวางบนข่าวปึกนั้นแล้วหุนหันเข้าครัวไปทำกับข้าวทันที ผมหยิบแผ่นข่าวนั้นขึ้นมาดู มันเป็นบทความบทหนึ่ง ชื่อว่า “เมื่อฉันแก่ตัวลง” ตัดจากหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2004 เป็นช่วงที่ผมเริ่มเถียงกับแม่ถี่มากขึ้นทุกทีบทความนั้นคัดมาจากนิตยสารฉบับหนึ่งของเม็กซิโก ฉบับเดือนพฤศจิกายน ผมอ่านบทความนั้นทันที
          เมื่อฉันแก่ตัวลง.....ไม่ใช่ฉันที่เคยเป็น ขอโปรดเข้าใจฉัน
มีความอดทนต่อฉันเพิ่มขึ้นอีกสักนิด


ถ้าฉันทำน้ำแกงหกใส่เสื้อตัวเอง....ถ้าฉันลืมวิธีผูกเชือกรองเท้า
ขอให้คิดถึงตอนเธอเด็กๆ...ที่ฉันสอนเธอหัดทำทุกอย่าง


ถ้าฉันเริ่มพร่ำบ่นแต่เรื่องเดิมๆที่เธอรู้สึกเบื่อ….ขอให้อดทนสักนิด
อย่าเพิ่งขัดฉัน ตอนเธอยังเล็กๆ ฉันยังเคยเล่านิทานซ้ำๆซากๆ จนเธอหลับเลย


ถ้าฉันต้องการให้เธอช่วยอาบน้ำให้ อย่าตำหนิฉันเลยนะ
ยังจำตอนที่เธอยังเล็กๆได้ไหม ฉันต้องทั้งกอดทั้งปลอบเพื่อให้....เธอยอมอาบน้ำ

ถ้าฉันงงกับวิทยาการใหม่ๆโปรดอย่าหัวเราะเยาะฉัน….
จำตอนที่ฉันเฝ้าอดทนตอบคำถาม “ทำไม ทำไม”ทุกครั้งที่เธอถามได้ไหม

ถ้าฉันเหนื่อยล้าจนเดินต่อไม่ไหว
ขอ....จงยื่นมือที่แข็งแรงของเธอออกมาช่วยพยุงฉันเหมือนตอนที่ฉันพยุงเธอให้หัดเดินในตอนที่เธอยังเล็กๆ

หากฉันเผอิญลืมหัวข้อที่กำลังสนทนากันอยู่โปรดให้เวลาฉันคิดสักนิด ที่จริงสำหรับฉันแล้ว.....กำลังพูดเรื่องอะไรไม่สำคัญหรอกขอเพียงมีเธออยู่ฟังฉัน......ฉันก็พอใจแล้ว

ตอนนี้ถ้าเธอเห็นฉันแก่ตัวลง...ไม่ต้องเสียใจ...ขอให้เข้าใจฉัน....สนับสนุนฉัน
ให้เหมือนตอนที่ฉันสนับสนุนเธอตอนเธอเพิ่งเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

ในตอนนั้น....ฉันนำพาเธอเข้าสู่เส้นทางชีวิต
ตอนนี้....ขอให้เธอเป็นเพื่อนฉันเดินไปให้สุดเส้นทางของชีวิต……โปรด....ให้ความรักและความอดทนต่อ....ฉัน

ฉันจะยิ้มด้วยความขอบใจ....
ในแววตาอันฝ้าฟางของฉัน....มีแต่ความรักอันหาที่สิ้นสุดมิได้ของฉันที่มีให้กับ..........เธอ

              ผมอ่านบทความนั้นรวดเดียวจบทันที.... เกือบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ตอนนั้นแม่เดินออกมา ผมแกล้งทำเป็นไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนแรกแม่คงอยากให้ผมได้อ่านบทความนี้หลังจากผมกลับไปแล้วจึงคะยั้นคะยอให้ผมนำข่าวปึกนั้นกลับไป ตอนผมจัดกระเป๋าเดินทางผมต้องสละไม่เอาสูทกลับไป 1 ตัว 
จึงยัดเก็บปึกข่าวเหล่านั้นเข้าไปได้รู้สึกแม่จะดีใจมากเหมือนกับว่า หนังสือพิมพ์เหล่านั้นเป็นยันต์โชคลาภสำหรับผมและเหมือนกับว่าการที่ผมยอมรับหนังสือพิมพ์เหล่านั้น ผมได้กลับมาเป็นเด็กดีของแม่อีกครั้งหนึ่งแม่ตามมาส่งผมจนถึงรถแท็กซี่เลยที่เดียว
              หนังสือพิมพ์ที่ผมนำกลับมาเหล่านั้น ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไรเลย แต่บทความ
“เมื่อฉันแก่ตัวลง” บทนั้น ผมได้ตัดเก็บไว้ในกรอบ เอาไว้ข้างตัวฉันตลอดไปตอนนี้ ผมขออุทิศบทความนี้ให้กับลูกๆทั้งที่พเนจรและไม่ได้พเนจรทั้งหลาย...ถ้ามีเวลาว่างก็แวะไปหาท่าน หรือไม่ก็โทรไปหาท่านบ้าง บอกท่านว่าคุณอยากกินอาหารที่ท่านทำเสมอ....ท่านไม่ได้ต้องการอะไรจากเรามากไปกว่า...แค่ได้รับรู้ว่าเราสุขสบายดี..ถ้าหากเราไม่สามารถไปเยี่ยมท่านได้....ตอนคุยโทรศัพท์กับท่าน...โปรดยิ้มให้กว้างๆและยิ้มบ่อยๆ...แม้ท่านจะมองไม่เห็น..แต่ท่านจะรู้สึกได้......

ยกตัวเองขึ้น โดยไม่ลดคนอื่นลง

 

              อาจารย์คนหนึ่งชวนลูกศิษย์เดินเล่นที่ชายหาด อาจารย์ได้เริ่มสอนลูกศิษย์ด้วยการใช้ไม้เท้าขีดเส้นสองเส้นลงไปบนผืนทราย เป็นเส้นคู่ขนาน ยาว 5 ฟุต และ 3 ฟุต ตามลำดับ อาจารย์กล่าวว่า “เธอสามารถทำให้เส้น 3 ฟุต ยาวกว่าเส้น 5 ฟุต ให้หรือเปล่า ไหนลองทำให้ดูหน่อยสิ”
               ลูกศิษย์หยุดคิดครู่หนึ่ง แล้วก็ ลบรอยเส้นที่ยาว 5 ฟุตนั้นให้สั้นลงเหลือเพียง 1 ฟุต ทำให้เส้น 3 ฟุตโดดเด่นขึ้นมา แล้วศิษย์ก็ถามอาจารย์ และขอความเห็นว่า “แบบนี้ถูกหรือเปล่าครับ”
               “เหยีบบหัวคนอื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่สูงขึ้น”
อาจารย์เขกกบาลลูกศิษย์เบา ๆ แล้วบอกว่า ” คนที่จะยกตนเองให้สูงขึ้น โดยการทำร้ายคู่แข่งนั้น ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ถ้าเลือกใช้วิธีนี้ชีวิตเธอ ก็มีแต่จะล้มเหลวไม่พัฒนา ทางที่ดีควรเลือกวิธีที่จะยกตัวเองขึ้น โดยไม่ไปลดคนอื่นลง ” 
               แล้วอาจารย์ก็ขีดเส้น 2 เส้นให้เท่าเดิม คือ 3 ฟุต และ 5 ฟุต จากนั้นอาจารย์ก็สาธิตให้ดูด้วยการขีดเส้น 3 ฟุตให้ยาวขึ้นเป็น 10 ฟุต แล้วพูดว่า 
              “จงอย่าคิดว่าคู่แข่งของเธอคือศัตรู แต่ให้คิดว่าเป็นครูของเธอ” 
                ที่เธอจะต้องพัฒนาตนเองให้เทียบเท่าหรือดีกว่า ที่จะทำให้เธอได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม คนที่พยายามจะเลื่อนตัวเองขึ้นไป โดยการฆ่าน้อง ฟ้องนาย และขายเพื่อน ถึงแม้จะทำให้สำเร็จ แต่นั่นก็เป็นความสำเร็จที่ปราศจากเกียรติคุณ ไม่อาจเอ่ยอ้างได้อย่างเต็มภาคภูมิ การเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรม กับการเลื่อนตัวเองขึ้นไปโดยปล่อยให้คนอื่นได้ก้าวไปตามวิถีทางของเขาอย่างเสรีนั้น ย่อมมีผลลัพธ์ที่ต่างกันหากไร้คู่แข่งแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีศักยภาพในการทำงานขนาดไหน ไม่มีอัปลักษณ์ก็ไม่รู้จักสวยงาม นักสู้ที่ดีมักชื่นชมคู่ต่อสู้ที่เข้มแข้ง เพราะคู่ต่อสู้ที่อ่อนแอ จะทำให้ชัยชนะของเขาไม่ยั่งยืนยง ดังนั้นเมื่อได้พบกับคู่แข่งที่แกร่ง และฉลาดล้ำ ก็ยิ่งทำให้เรารู้จักขยับตัวเองขึ้นไปให้สูงส่งยิ่งขึ้น การเลื่อนตัวเองขึ้นพร้อมกับลดคนอื่นลง เธออาจจะชนะ แต่ก็มีศัตรูตามมาด้วย แต่การเลื่อนตัวเองขึ้นโดยไม่ไปลดคนอื่นลง เธออาจเป็นผู้ชนะ พร้อมกับยังมีเพื่อนแท้เพิ่มขึ้น และหนึ่งในนั้นอาจเป็นคู่แข่งของเธอเองด้วย