วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี)


ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี)

           เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี นามเดิมว่า "โต" (กล่าวกันว่าเมื่อเป็นเด็ก รูปร่างท่านแบบบาง ผู้ใหญ่จึงตั้งชื่อให้ตรงกันข้าม (ข่มนาม) ว่า "โต" ) นามฉาย าว่า "พฺรหมรังสี" เกิดในรัชกาลที่ ๑ (สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว๗ ปี) ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
           มีผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ได้ผูกดวงชาตาของท่านไว้ดังนี้ (ในหนังสือ "ประวัติขรัวโต" ของพระยาทิพโกษากล่าวว่า ดวงชะตาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศน์ผู้เขียน) ทรงคำนวณถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยมีพระประสงค์จะทรงทราบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ ๘๐ ปีขึ้นไปจะมีดวงชะตาเป็นอย่างไร แล้วพระราชทานไปยังสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ซึ่งได้ประทานให้แก่พระยาทิพโกษา ลอกคัดเก็บรักษาไว้อีกต่อหนึ่ง ดวงชะตาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่ว่านี้ลัคนาสถิตราศีใดหาทราบไม่ แต่ได้ค้นพบในที่อื่นอยู่ในหอพระสมุดแห่งชาติ ปรากฏว่าโหรวางลัคนาไว้ในราศีเมษ แต่พบในที่อื่นอยู่ในราศรีพฤษภ. (มหาเฮง วัดกัลยาณ์)


ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรสี)
           สำหรับดวงที่ท่านเห็นอยู่นี้ ผูกขึ้นจากข้อมูลการเกิดข้างต้น เพียงแต่ลงตำแหน่งดาวเพิ่มขึ้นจากเดิม ๓ ดวง คือ เนปจูน (น) พลูโต (พ) และแบคคัส (บ) โดยได้วางลัคนาไว้ที่ราศีพฤษภ เนื่องจากช่วงเวลาที่พระบิณฑบาตร กว่าจะออกจากวัดตอนหกโมงเช้า พายเรือมากว่าจะถึงบ้านโยม ก็คงใช้เวลาอย่างน้อยเป็นชั่วโมง เพราะต้องรับบาตรเรื่อยมา เวลาที่ลงไว้ เมื่อวางลัคนา และเทียบกับอัตตชีวประวัติ ตลอดจนอุปนิสัยของท่านแล้ว เชื่อว่า ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง มากกว่าที่จะอยู่ในราศีเมษ (อ.เล็ก พลูโต )
           วงศ์สกุลของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กล่าวกันว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นพระราชโอรส ในพระองค์พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และตลอดจนชั้นสามัญชนทั่วไป ก็เข้าใจกันว่าเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องนี้ไม่เป็นที่กระจ่างแจ้งจึงไม่ขอยืนยัน มารดาชื่อเกสร (ธิดานายชัย) เดิมเป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอท่าโพธิ์ ต่อมาในสมัยหนึ่งการทำนาไม่ได้ผลเพระฝนแล้งมาหลายปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่อย่างน้อยที่สุดท่านต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรี (ความปรากฏในจดหมายเหตุบัญีน้ำฝน ของสมเด้จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เล่น ๓ หน้า ๔๔ ว่า
           "...วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น) ปีวอก จุล. ๑๒๓๔ เวลา ๒ ยาม สมเด้จพระพุฒาจารย์ถึง "ชีพิตักษัย....." ดังนี้ส่อให้เห็นว่าท่านต้องเป็นเชื้อพระราชวงศ์) กล่าวกันว่าเมื่อท่านเกิดแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นทารกนอนเบาะ มารดาพาท่านไปพักอยู่ที่บ้านตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านสอนเดินได้ มารดาก็พาท่านมาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนครสืบมา (ในกาลหลังท่านจึงได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ ณ ตำบลทั้งสามเป็นอนุสรณ์)
           เมื่อเยาว์วัย ท่านได้รับการศึกษาอักขรสมัยในสำนัก เจ้าคุณอรัญญิก (เจ้าคุณอรัญญิกเป็นชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในวิปัสสนาธุระ มีคนนับถือมาก นามเดิมของท่านเข้าใจว่าชื่อแก้ว) วัดอินทรวิหาร (วัดนี้เป็นวัดโบราณ ใครสร้างไม่ปรากฏที่กล่าวในหนังสือ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างนั้น เห็นจะหมายความว่า ท่านได้ปฏิสังขรณ์เป็นครั้งแรก เดิมเรียกว่า "วัดบางขุนพรหมนอก" ต่อมาพระองค์เจ้าอินทวงศ์ในกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๓ ทรงปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทรราม ภายหลัง (ในรัชกาลที่ ๖) ทางการคณะสงฆ์ พิจารณาเห็นว่านามพ้องกับวัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือใต้) คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี จึงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดอินทรวิหาร" ปรากฏสืบมาจนทุกวันนี้ 
           ครั้นอายุ ๑๒ ปี ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๓ ได้บรรพชาเป็นสามเณร (จะบรรพชาที่วัดสังเวชฯ หรือวัดอินทรวิหารไม่ทราบแน่ แต่สันนิษฐานว่าจะบรรพชาที่วัดอินทรวิหาร ด้วยเป็นสำนักที่ท่านเคยอยู่และศึกษาอักขรสมัยมาแต่แรก) เจ้าคุณบวรวิริยเถร (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม (เวลานั้นเรียกว่าวัดบางลำพูบน) จังหวัดพระนคร เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาจะเป็นปีใดไม่ปรากฏ ได้ย้ายสำนักมาอยู่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป 
           ในตอนที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะย้ายมาอยู่วัดระฆังฯ นั้นมีเรื่องเล่าว่า คืนวันหนึ่งพระอาจารย์ (เห็นจะเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก) นอนหลับฝันไปว่ามีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมดสิ้น แล้วตกใจตื่น ท่านได้พิจารณาลักษณะการที่ฝันเห็นว่า "ชะรอยจะมีคนนำเด็กมาฝากเป็นศิษย์ และเด็กนั้นต้องกอปรไปด้วยสติปัญญาอันสูงส่ง ต่อไปจะเป็นผู้ทรงคุณเป็นอย่างวิเศษผู้หนึ่ง" ครั้นรุ่งเช้าท่านจึงสั่งพระและเณรว่า วันนี้ถ้ามีใครนำเด็กมาขอให้รอยพบท่านให้จนได้ เผอิญในวันนั้น เจ้าคุณอรัญญิกได้พาสามเณรโตมาถวายเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรม พระอาจารย์นั้นก็ยินดีรับไว้ ด้วยพิเคราะห์เห็นพฤติการณ์เป็นจริงตามความฝัน

           เรื่องประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อันเนื่องด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า ท่านได้เล่าเรียนในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เปรียญเอก วัดระฆัง เป็นพื้น และได้เล่าเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุบ้าง นอกจากนี้จะได้เล่าเรียน ที่ใดอีกบ้าง หาทราบไม่ เล่าว่าเมื่อเป็นนักเรียนท่านมักได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์เสมอว่ามีความทรงจำดี ทั้งมีปฏิภาณอัดยอดเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าขานกัว่าเมื่อท่านเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก่อนจะเรียนท่านกำหนดว่า วันนี้ท่านจะเรียนตั้งแต่นี่ถึงนั่น ครั้นถึงเวลาเรียนท่านก็เปิดหนังสือออกแปลตลอด ตามที่กำหนดไว้ท่านทำดังนี้เสมอ จนสมเด็จพระสังฆราชรับสั่งว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก"
           ยังมีข้อน่าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ท่านเรียนรู้ปริยัติธรรมแต่ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ (ในสมัยก่อนนั้น การสอบพระปริยัติธรรมไม่ได้ออกเป็นข้อสอบเหมือนทุกวันนี้ การสอบในครั้งนั้นต้องสอบพระปริยัติธรรมต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการสอบด้วยปากเปล่า สุดแต่ผู้เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะสอบถามอย่างใด ต้องตอบให้ได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็หมายความว่าตกเพียงแค่นั้น) และแปลกยิ่งกว่านั้นก็คือ มีผู้เรียกท่านว่ามหาโตมาตั้งแต่แรกบวช ( ปรากฏในบัญชีรายนามพระสงฆ์พระราชทานฉันและสดัปกรณ์ราย ๑๐๐ ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา รัชกาลที่ ๓ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ แต่ไม่ลงปี มีนามเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เขียนว่า "มหาโต เปรียญเอก บางแห่งว่า มหาโต เปรียญ ๔ ประโยคแรก) แต่บางคนเรียกว่า "ขรัวโต"
           ทั้งนี้เพราะเห็นว่าท่านมักชอบทำอะไรแปลกๆ ไม่ซ้ำแบบใคร นี้เป็นเรื่องธรรมดาของอัจฉริยบุคคล ซึ่งตามปรกติคนส่วนมาก ไม่ค่อยเข้าใจในอัจฉริยภาพอันมีความหมายสูง อัจฉริยบุคคลแทบทุกท่านเมื่อยังมีชีวิตอยู่ มักจะมีผู้เข้าใจว่าบ้าเสมอ มีมติอยู่ข้อหนึ่งว่า " อัจฉริยบุคคลและคนบ้านั้นอยู่ห่างกันเพียงก้าวเดียว" ว่าถึงความรอบรู้พระปริยัติธรรม ปรากฏว่าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก มีชื่อทั้งเป็นผู้เรียนก็เรียนเก่งกว่าใคร เป็นครูก็สอนได้ดีเยี่ยม มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ศิษย์ที่เป็นเปรียญเอกและทรงสมณศักดิ์สูงคือหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน

           เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สิ้นชีพิตักษัย ณ หอสวดมนต์วัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี เมือเวลา ๒ ยาม (๒๔.๐๐น.) วันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (ต้น) ปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ คำนวณอายุได้ ๘๕ ปี ครองพรรษาได้ ๖๕ พรรษา

ขอบคุณ เวปไซต์ วัดระฆังโฆสิตาราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น